ตำนานพระแก้วมรกต (ที่คนไทยหลายๆคนยังไม่รู้)

Last updated: 18 ก.พ. 2564  |  34971 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตำนานพระแก้วมรกต (ที่คนไทยหลายๆคนยังไม่รู้)

วันนี้ผมขออณุญาตินำเรื่องราวและความเป็นมาของ'พระแก้วมรกต' ที่หลายคนยังไม่รู้ และผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนจนกระทั่งมาอบรมมัคคุเทศก์ที่มหาวิทยาลับศิลปากร และท่านอาจารย์ ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ (ต่อไปนี้ ผมขออณุญาติเรียกท่านสั้นๆว่า'อาจารย์หม่อม'นะครับ) ท่านได้เล่าถึงประวัติ ความเป็นมา ก่อนที่จะมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังนั้น ท่านได้ถูกค้นพบที่ไหน? ถูกค้นพบได้อย่างไร? และประดิษฐาน ณ.ที่ใดมาบ้าง? ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ได้เรียบเรียงโดย ศาตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และข้อมูลนี้ ยังได้ถูกบันทึกไว้ในคู่มือมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

ประวัติพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร หรือ'พระแก้วมรกต'นั้น มีตำนานที่ควรเชื่อถือได้คือ ถูกค้นพบครั้งแรกที่ วัดป่าเยี๊ยะ (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว จ.เชียงราย) ในปี พ.ศ.1977 หรือเมื่อเกือบหกร้อยปีที่แล้ว 'พระแก้วมรกต' ถูกซ่อนอยู่ภายในเจดีย์ขนาดใหญ่ เมื่อเจดีย์องค์นั้นถูกฟ้าผ่าจนยอดหักลง ก็มีพระสงฆ์รูปหนึ่งพบพระพุทธรูปปิดทองซ่อนอยู่ภายในเจดีย์ปูนที่ถูกฟ้าผ่า พระในวัดนั้นคิดว่าเป็นเพียงแค่พระพุทธรูปที่สร้างจากหินธรรมดาทั่วไป จึงได้นำ'พระแก้วมรกต'มาประดิษฐานไว้ภายในวิหาร เรียงรายคู่กับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ สองสามเดือนต่อมา ปูนที่ฉาบบริเวณปลายพระนาสิก (จมูก) ของ'พระแก้วมรกต' หลุดออกมา เจ้าอาวาสจึงสังเกตเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วภายในเป็นพระพุทธรูปซึ่งแกะสลักจากหินสีเขียวงดงาม ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงกะเทาะปูนทั้งหมดที่ฉาบทับอยู่ จึงเป็นที่ปรากฏต่อทุกสายตาว่าแท้ที่จริงพระพุทธรูปองค์นี้แกะสลักจากหยกเขียวบริสุทธิ์เพียงชิ้นเดียวทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 48 ซม. ความสูงจากฐานถึงพระเศียร 66 ซม. 

'พระแก้วมรกต'ถูกสร้างมาโดยใครและเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่การถูกซ่อนไว้ในปูนและพระเจดีย์อีกทีหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า ในพระพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่าศาสนาพระพุทธ จะมีอายุอยู่เพียง 5,000 ปี ดังนั้น หลังจากหมดยุคนี้ไป การค้นพบ'พระแก้วมรกต'ในอนาคตจะทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนี้เริ่มสงสัยกันแล้วใช่มั้ยครับว่า  พระพุทธรูปทำมาจากหยก แล้วทำไมเรียกมรกต? ผมก็เคยสงสัยแบบนี้เหมือนกัน และผมก็ได้ถามท่านอาจารย์ 'คุณชาย' คำตอบง่ายๆก็คือ เพราะหยกที่สีเขียวเหมือนมรกต และอาจเป็นเพราะคนท้องถิ่นในสมัยนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นหินสีเขียว จึงสัญนิษฐานว่าเป็นมรกต 

เรื่องราวของ'พระแก้วมรกต' ถูกคนเผยแพร่ออกอย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวบ้าน และผู้คนมากมายอยากเข้าไปกราบไหว้สักการะ สักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อเป็นศิริมงคล จนกระทั่งในปี พ.ศ.1979 เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกน ได้จัดขบวนช้างไปอันเชิญ'พระแก้วมรกต'เพื่อมายังเมืองเชียงใหม่ แต่ระหว่างทาง ช้างที่อัญเชิญ เกิดตระหนกตกใจ วิ่งไปยังเมืองลำปาง ไม่ยอมมายังเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าสามฝั่งแกน ส่งช้างตัวใหม่ไป ผลกลับเป็นเช่นเดิม คือช้างที่อัญเชิญ จะเดินไปทางลำปางอย่างเดียว พระเจ้าสามฝั่งแกน ผู้เชื่อเรื่องพลังเหนือธรรมชาติ จึงทรงคิดว่า 'พระแก้วมรกต'คงมีความประสงค์ที่จะอยู่เมืองลำปาง และเมืองลำปางก็ไม่ห่างจากเชียงใหม่มาก จึงให้'พระแก้วมรกต'ประดิษฐานที่เมืองลำปาง โดยชาวลำปางต่างบริจาคเงินเพื่อสร้างวัดพระแก้วขึ้น (ปัจจุบันคือวัดพระแก้วดอนเต้า) 

'พระแก้วมรกต' ประดิษฐานอยู่ลำปางเป็นเวลากว่า 32 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2011 เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระองค์ใหม่คือ พระเจ้าติโลกราช (พระโอรสลำดับที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกน) เมือขึ้นครองเมืองแล้ว จึงมีความประสงค์ที่จะอัญเชิญ 'พระแก้วมรกต'ให้มาอยู่ที่เชียงใหม่ จึงส่งขบวนช้างไปอัญเชิญ'พระแก้วมรกต'เพื่อมายังเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ 'พระแก้วมรกต'ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจระนำด้านตะวันออกของพระเจดีย์ ภายในวัดเจดีย์หลวง ในเมืองเชียงใหม่ แต่นานๆทีจะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนกราบไหว้สักการะ และอยู่ที่เชียงใหม่นานถึง 84 ปี 

ต่อมาในสมัยของ พระเมืองเกษเกล้า เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มีธิดาอยู่องค์หนึ่งชื่อพระนางยอดคำทิพย์ (ประสูติแต่พระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสี) ได้ส่งธิดาของพระองค์ไปสมรสกับเจ้าเมืองหลวงพระบาง คือพระเจ้าโพธิสาลราช ซึ่งต่อมาเจ้าเมืองหลวงพระบางและนางยอดคำมีบุตรชายชื่อ 'เจ้าเชษฐวังโส' หรือพระไชยเชษฐ์ ดังนั้นหากนับญาติ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พระเมืองเกษเกล้า) คือพระเจ้าตา ของ 'พระไชยเชษฐ์' ต่อมาพระเจ้าเมืองเชียงใหม่เสด็จสวรรคต และไม่มีทายาทสืบทอด พระเจ้าโพธิสาลราชได้เสนอให้พระราชโอรสคือ เจ้าเชษฐวังโส (พระไชยเชษฐ์) ซึ่งมีเจ้านางยอดคำทิพย์ เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่เป็นพระมารดาขึ้นเป็นกษัตริย์ ทางเชียงใหม่ตอบตกลง เจ้าเชษฐวังโส จึงไปครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2090 ซึ่งในขณะนั้น เจ้าเชษฐวังโส (พระไชยเชษฐ์) มีพระชนม์เพียง 15 พรรษามา เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเจ้าตา 

เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐ์ครองเมืองเชียงใหม่ไม่นาน พระบิดาของพระองค์ (พระยาโพธิสาลราช) ที่ครองเมืองหลวงพระบางก็เสด็จสวรรคต ท่านจึงเดินทางกลับไปที่หลวงพระบาง พร้อมนำ'พระแก้วมรกต' และ'พระแซกคำ' กลับไปด้วย เพราะอยากให้พระประยูรญาติของพระองค์ และประชาชนที่หลวงพระบางจะได้มีโอกาสสักการะบูชา'พระแก้วมรกต' และ'พระแซกคำ' แต่การไปครั้งนี้ท่านไม่กลับมาเชียงใหม่อีกเลย (พระเจ้าไชยเชษฐ์ ได้นำ'พระแก้วมรกต' และ'พระแซกคำ'ไปจากเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2095) 

'พระแก้วมรกต' และ'พระแซกคำ' ประดิษฐาน ณ หลวงพระบางเป็นเวลา 12 ปี คือปี พ.ศ.2095 ถึง พ.ศ.2107 แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กองทัพพม่าของพระเจ้าบุเรงนองมีความแข็งแกร่ง และได้ขยายอำนาจออกไปเป็นอย่างมาก รบที่ไหนชนะทุกที่ พระเจ้าไชยเชษฐ์ จึงคิดว่าเมืองหลวงพระบางนั้นอยู่ใกล้พม่าเกินไป จึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังเมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญ'พระแก้วมรกต', 'พระแซกคำ' และ 'พระบาง' มาประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายสิบปี จากหลายสิบปีเป็น 215 ปี ที่'พระแก้วมรกต' ประดิษฐาน ที่นครเวียงจันทร์ คือตั้งแต่ พ.ศ 2107 ถึง พ.ศ 2322 ซึ่งถ้านับเวลาที่ 'พระแก้วมรกต' อยู่ในประเทศลาวรวมกันคือ 227 ปี ซึ่งถ้านับช่วงอายุคนก็ประมาณ 3 ช่วงอายุคน ด้วยเหตุนี้เอง ที่คนส่วนใหญ่คิดว่า'พระแก้วมรกต'มาจากประเทศลาว 

ย้อนกลับมายัง ประเทศไทย ในช่วง อยุธยา ประมาณ พ.ศ 2310 พม่าบุกกรุงศรีอยุธยา มีทหารหนุ่มชื่อ 'ตากสิน' นำกำลังบุกฝ่ากองทัพพม่าออกมา พร้อมทหารคู่ใจของพระองค์นามว่า 'พระยามหากษัตริย์ศึก' ซึ่งรบเก่งมาก และอายุยังน้อย หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชได้เอาชนะพกองทัพพม่า และกอบกู้ประเทศได้ แต่ตอนนั้นกรุงศรีอยุธยาพังหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงตัดสินใจย้ายมาสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ชื่อ 'กรุงธนบุรี' โดยมีพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้นำทหาร ในปี พ.ศ. 2321 พระยามหากษัตริย์ศึกได้ไปรบที่เวียงจันทน์จนได้ชัยชนะ และได้นำ'พระแก้วมรกต' และ'พระบาง' กลับมายังประเทศไทย พระเจ้าตากสินโปรดให้อัญเชิญ'พระแก้วมรกต' และ'พระบาง'ขึ้นประดิษญานไว้ในมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่า และพระวิหารเก่า หน้าประปรางค์ (วัดอรุณ ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี จวบจนกระทั่งพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคต ต่อมา 'เจ้าพระยากษัตริย์ศึก' จึงเสด็จขึ้นครองราชย์แทน และปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 

ในเวลานั้นพระเจ้าเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นประเทศราชได้มาถวายเครื่องราชบรรณาการ และได้กราบบังคมทูลขอพระบาง กลับไปเวียงจันทร์ด้วย จึงพระราชทาน'พระบาง' คืนไปไว้นครเวียงจันทร์ตามประสงค์ และในส่วนของ'พระแซกคำ'นั้น ในปี พ.ศ.2369 พระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าอนุวงศ์ แห่งอาณาจักรล้านช้าง หรือนครเวียงจันทร์ จึงอัญเชิญ'พระแซกคำ' กลับมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานแก่ 'พระยาราชมนตรีบริรักษ์' (ภู่) ให้เป็นพระประธาในพระอุโบสถ 'วัดคฤหบดี' พระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพระราม 8 ในปัจจุบัน ซึ่งท่านเป็นผู้สร้าง 

รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีใหม่มาอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา (วัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง ในปัจจุบัน) หรือฝั่งตรงข้ามกรุงธนบุรี และทรงเปลี่ยนชื่อราชธานีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระนามของ'พระแก้วมรกต' ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร'   
โดยเปลี่ยนชื่อราชธานีเป็น : กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ 
ซึ่งมีความหมายว่า : นครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของ'พระแก้วมรกต' เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงดงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมณ์ยิ่ง มีพระรานิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตาลลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ 

น่าเสียดายที่คนไทยทุกคนรู้จัก'พระแก้วมรกต' แต่ส่วนน้อยเหลือเกินที่จะรู้ถึงประวัติ และความเป็นมา ว่ามาจากที่ใด ตั้งแต่ผมได้มีโอกาศมาอบรมมัคคุเทศก์ที่มหาวิทยาลับศิลปากร ผมและเพื่อนร่วมอาชีพไกด์ทุกคน ได้กลายเป็นคนส่วนน้อยนั้นไปแล้วครับ 

Cr : ศาตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล 

ไกด์บางกอก

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้